ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท
ผ้ากาสา เป็นผ้าดิบเนื้อหยาบ ไม่ได้ย้อมฝาดมีสีหม่นไม่ขาวทีเดียว คำว่า กาสา (Kassar) เป็นคำมลายู แปลว่า หยาบ

ผ้ากรองทอง เป็นผ้าที่ถักด้วยแล่งเงินหรือแล่งทอง ถักให้เป็นลวดลายต่อกันเป็นผืน นิยมนำมาทำเป็นผ้าทรงสะพักห่ม ทับผ้าสไบอีกทีหนึ่ง หรือ ส่วนมากนำมาทำเป็นผ้าสไบ ใช้ห่มทับลงบนผ้าแถบ และผ้าสไบอีกทีหนึ่ง มักใช้แต่เฉพาะเจ้านายผู้หญิงชั้นสูง มีขนาดกว้างยาวเท่ากับผ้าสไบ ชายผ้าด้านกว้างปล่อยเป็นชายครุย
เมื่อต้องการให้ผ้ากรองทองมีความงดงามเพิ่มมากขึ้น นิยมนำปีกแมลงทับมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนรูปใบไม้ และปักลงไปบนผ้ากรองทอง ในตำแหน่งที่คิดว่าจะสมมุติเป็นลายใบไม้

ผ้าเกี้ยว ผ้าสมปัก ผ้าคาดเอว มีทั้งผ้าลายพิมพ์ ผ้าไหม อีกความหมายหนึ่ง คือ ผ้าลายหรือผ้าปูมสมัยเก่าสำหรับขุนนางนุ่งหรือห่อคัมภีร์เป็นต้น
ผ้าขาวม้า เดิมเรียก ผ้ากำม้า เป็นผ้าประจำตัวของผู้ชาย ใช้เป็นทั้งผ้านุ่ง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเคียนพุงและผ้าพาดไหล่ เป็นผ้าฝ้ายผืนยาวทอเป็นลายตาตาราง
ผ้าเขียนทอง ผ้าพิมพ์ลายอย่างดี เน้นลวดลาย เพิ่มความสวยงามด้วย การเขียนเส้นทองตามขอบลาย ผ้านี้เกิดขึ้นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ ๑ และใช้ได้เฉพาะพระมหากษัตริย์ลงมาถึงชั้นพระองค์เจ้าโดยกำเนิดเท่านั้น ตัวอย่าง ผ้าดิ้นทอง

ผ้าตาโถง ผ้าลายตาสี่เหลี่ยมหรือลายตาทแยงใช้เป็นผ้านุ่งของผู้ชายคล้ายผ้าโสร่ง

ผ้าตามะกล่ำ ผ้าตาเล็ดงา ผ้าตาสมุก ผ้าริ้วมะลิเลื้อย ผ้าตาโถง ผ้าหิ่งห้อยชมสวน เป็นชื่อผ้าเรียกตามลายผ้า โดยเป็น ผ้าฝ้ายสีคล้ำมีลายเล็กๆ ใช้เป็นผ้านุ่ง ตัวอย่างบรรยายการแต่งตัว เช่น นุ่งผ่าตาเล็ดงาส่วนที่หูนั้นทัดบุหรี่สองหู
ผ้าเปลือกกระเทียม เป็นชื่อผ้าเรียกตามเนื้อผ้า ซึ่งเป็นผ้าเนื้อบางอย่างดี
ผ้าบัวปอก ผ้าฝ้ายเนื้อหยาบ ชาวบ้านใช้ โดยเฉพาะผู้หญิงใช้เป็นผ้านุ่ง
ผ้าปัก ผ้าปักไหม เป็นผ้าที่ใช้กันในบรรดาเจ้านายชั้นสูง มีทั้งผ้านุ่ง ผ้าห่ม ซึ่งใช้ห่มทับสไบ ผ้าปูลาดและผ้าห่อเครื่องทรง ส่วนมากใช้ผ้าไหมพื้นเนื้อดีปักลวดลายด้วยไหมสีต่างๆ ทั้งผืน หรือปักด้วยไหมหรือดิ้นเงินดิ้นทองปักลวดลายดอกไม้และอื่นๆ การปักไหมนี้ถ้าใช้ไหมสีทองมากก็เรียกว่า ผ้าปักไหมทอง
ผ้าปูม (มัดหมี่) ผ้าปูม หรือปัจจุบันทราบกันในชื่อมัดหมี่ ในประเทศไทยมีผลิตมากทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนล่างแทบทุกจังหวัด
ผ้าปูมนี้เดิมเป็นผ้าส่วยของหลวงมาจากเมืองเขมรที่ใช้พระราชทานเป็นเครื่องยศขุนนางเดิมไทยเรามีโรงไหมของหลวงทอผ้าสมปักปูมและสมปักเชิงกรวยพระราชทาน ทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนผ้าเป็นลายสีต่างๆ ใช้ตามยศตามเหล่า มีสมปักปูมเป็นชนิดสูงสุด สมปักริ้วเป็นชนิดต่ำสุด ดังนั้นผ้าปูมคงหมายถึงเฉพาะผ้าสมปักปูมนั่นเอง อันเป็นของหายากมาก ตัวอย่าง ผ้าปูม (มัดหมี่)


ลักษณะการทอและรูปแบบของผ้ามัดหมี่นี้พบว่าเป็นเทคนิคที่มีอยู่ทั่วโลกในประเทศที่มีอารยธรรมโบราณ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปเอเชีย ทั้งจีน อินเดีย อินโดนีเซีย หรือในทวีปยุโรปและแอฟริกาด้วย ซึ่งจัดเป็นเทคนิคที่มีต้นกำเนิดที่น่าสนใจยิ่ง
ผ้าเปลือกไม้ เป็นผ้าที่ทอจากใยที่ทำจากเปลือกไม้ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และเข้าใจว่าคงจะทอใช้เรื่อยมาจนครั้งรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนมากพวกนักพรตใช้นุ่งห่มคล้ายกับผ้าคากรอง

ผ้าพิมพ์ในสมัยอยุธยา เรามีช่างผลิตหรือเขียนลายบนผ้าอยู่แถววัดขุนพรหม และน่าจะมีการสั่งทำจากอินเดียด้วย ในสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานว่า สั่งทำผ้าพิมพ์หรือผ้าลายจากอินเดียตามแบบลายไทยที่สั่งไป เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์พรหมก้านแย่ง เทพนมก้านแย่ง และกินรีรำ เป็นต้น เรียกว่า ลายอย่าง ต่อมาทางอินเดียคิดทำผ้าพิมพ์เองโดยเขียนขึ้นตามลายไทย เพื่อส่งมาขายในอยุธยา แต่ลายที่อินเดียเขียนขึ้นนั้นเป็นลายแปลงของอินเดียผสมลายไทย เรียกลายนอกอย่าง ตัวอย่าง ผ้าพิมพ์ลายกรวยเชิง

ผ้าลายนอกอย่าง เป็นผ้าที่ทำเลียนแบบผ้าลายอย่าง แต่พิมพ์ลงบนผ้าฝ้าย จากอินเดียเนื้อหยาบ และฝีมือไม่ประณีตนัก จึงนำมาใช้กับสามัญชนได้โดยหลีกเลี่ยง กฎห้ามของราชสำนัก
ผ้ายก ฝรั่งเรียก "Brocade" ไทยเราผลิตผ้ายกได้ดีทั้งยกไหมและยกดิ้น ปรากฏทั้งในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน และในภาคใต้ เช่นที่นครศรีธรรมราช และที่พุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี การยกคือการเชิดเส้นไหมหรือฝ้ายขึ้น แล้วพุ่งกระสวยไประหว่างกลาง ให้เกิดเป็นลวดลาย มักมีลายเป็นกรวยเชิง หรืออื่นๆ จะเน้นด้วยไหม หรือแล่งทองถ้าเป็นของเจ้านายเรียกว่า “ผ้าทรง” เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือประณีตอย่างสูง คำว่ายก มาจากการเรียกกระบวนทอ เวลาทอเส้นด้ายหรือไหมที่เชิดขึ้นเรียกว่า เส้นยก เส้นด้ายหรือไหมที่จมลงเรียกว่า เส้นข่ม แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลาง ถ้าจะให้เป็นลาย เลือกยกเส้นข่มขึ้นบางเส้น ก็เกิดลายยกขึ้น จึงเรียกว่าผ้ายก
ผ้าลาย ถ้าหมายถึง ผ้าที่มีลวดลายแล้ว กล่าวว่าเดิมมีกระบวนการทำอยู่ ๔ วิธี คือ ลายปัก ลายปูม ลายยก และลายพิมพ์
ผ้าสมปัก ผ้านุ่งพระราชทานให้ขุนนางตาม ตำแหน่งใช้เป็นเครื่องแบบมาก่อนสมัยพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จะใช้เฉพาะในเวลาเข้าเฝ้าหรือในพระราชพิธี เป็นผ้าทอด้วยไหมเพลาะกลางผืนผ้าเป็นสีและลายต่างๆ ผ้าสมปักมีหลายชนิด ได้แก่ "สมปักปูม" ถือว่าเป็นชนิดดีที่สุด "สมปักล่องจวน" เป็นสมปักที่ทอเป็นรอยยาว เป็นสมปักชนิดท้องพื้นมีเชิงลาย นอกจากนี้มี "สมปักลาย" และ "สมปักริ้ว"ซึ่งเป็นผ้าสามัญที่พวกเจ้ากรมปลัดกรมนุ่งเท่านั้นมิใช่เป็นของพวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่
ผ้าสมปักปูม เป็นผ้าไหมมัดหมี่ มีลวดลายงดงาม นิยมออกสีโทนแดง เชิงผ้ามักทำเป็นลายกรวยเชิง ซึ่ง จำนวนและลวดลายจะแสดงฐานะของผู้สวมใส่ คำว่า สมปักในภาษาเขมรหมายถึง ผู้ชาย คำว่าปูม หมายถึง ลวดลาย ผ้าชนิดนี้ใช้พระราชทานแก่ขุนนางตามตำแหน่งเพื่อใช้เป็นเครื่องแบบ ชนิด ที่ดีที่สุดเรียกว่า “สมปักล่องจวน” ซึ่งมีลวดลายงดงามเป็นพิเศษ
ผ้าสมรดหรือสำรด หรือ สมรต เป็นผ้าคาดทับเสื้อครุยในงานพระราชพิธีของขุนนางชั้นสูง หรือเรียกว่าผ้าแฝง ทำด้วยไหมทองถักโปร่งๆ บางๆ คล้ายผ้ากรองทอง แต่โปร่งและบางกว่ามาก บางทีหมายถึง ผ้าคาดเอวที่ทำด้วยผ้าตาดทองปักดิ้นปักปีกแมลงทับ เป็นลวดลายดอกไม้เครือเถา เดิมก่อนรัชกาลที่ ๕ ไม่มีการแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยสีดำ ในงานพระเมรุใหญ่ๆ เจ้านายและขุนนางจึงนุ่งสมปักลายสีต่างๆ คาดทับเสื้อครุย พวกที่ไม่มีหน้าที่แห่เสด็จจะทำผ้าคาดย่อ คือ คาดแต่สมรดเป็นทีว่าได้คาดเสื้อครุย เรียกว่าผ้าแฝง แต่ผู้มีหน้าที่แห่เสด็จต้องคาดเสื้อครุยจริง เวลาเข้าริ้วขบวนก็เอามาสวม แต่ถ้าอยู่นอกริ้วขบวนจะถอดเสื้อครุยออกแล้วคาดสมรด เสื้อครุยมีวิธีการใช้อยู่ ๓ วิธี คือ เวลาอยู่ในหน้าที่จะสวมเสื้อครุยทั้งสองแขน ถ้าอยู่นอกหน้าที่เอาออกมาม้วนคาดพุง แต่ถ้าสวมแขนเดียวอีกแขนหนึ่งพาดเฉียงบ่าแสดงว่าอยู่ในหน้าที่เข้ากรม
ผ้าสุกุลพัสตร์ เป็นผ้าขาวเนื้อละเอียดชนิดดีมีในสมัยสุโขทัย
ผ้าไหม ผ้าอย่างดีทอด้วยไหม มีทั้งแบบเรียบยกดอก และเป็นลวดลาย
ผ้าเข้มขาบ เป็นผ้ายกทองทั้งผืน เป็นลายหรือดอกดวงต่างๆ พื้นที่เป็นแพรหรือไหมนั้น เป็นสีต่างๆ เช่น พื้นเขียวก็ทำให้เห็นเป็นเขียว หรือ พื้นแดงก็ทำให้เห็นเป็นแดง คือสีพื้นช่วยหนุนลายทองนั้นให้เห็นเป็นสี ผ้าเข้มขาบนั้น ทอด้วยไหมทองเอาเงินแผ่บางกะไหล่ทองแล้วทอเป็นผ้ายกลายทั้งผืน ไหมพื้นกับเส้นทอง ขนาดเท่ากัน ภาษาเปอร์เซียเรียกว่า Kimkhab แปลว่าผ้าทอง
ผ้าเยียรบับ ผ้าส้าระบับ เป็นผ้ายกทองพวกเดียวกับผ้าเข้มขาบ "ส้าระบับ" เป็นภาษาเปอร์เซีย "ซาร์" แปลว่าทอง และ "บัฟต์" แปลว่า "ทอ" เราเรียกตรงตามอินเดีย ว่า ผ้าส้าระบับ แต่บางทีเพี้ยนไปเป็น "เยียรบับ" ผ้าเข้มขาบ และผ้าส้าระบับ เป็นชนิดเดียวกัน คือผ้าทอด้วยเส้นทองทั้งผืนเหมือนกัน แต่เมื่อทำคนละแห่ง ก็เรียกคนละอย่างให้แตกต่างแหล่งผลิตแยกกันไป ผ้าเยียรบับ ผ้าส้าระบับ นั้นเป็นผ้าทอด้วยผ้าไหมสีควบกับไหมเงินหรือทองใช้เส้นทองมากกว่าไหมพื้นนับเป็นผ้าที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ใช้ทำเป็นผ้าทรง และตัดเป็นฉลองพระองค์
ผ้ดอัดตลัด หรือ อัตลัต ภาษามาลายูแปลว่า แพรต่วน ภาษาอาหรับ "อัตลัส" หนังสือฝรั่งเก่าๆ เรียก " อัตตาลิก" ( Attalic ) เป็นผ้าทอด้;ยไหมแกมเส้นทองและเงิน เป็นลายเป็นดอกต่างๆ ทำในเมือง สุหรัด อินเดีย นิยมทอด้วยดิ้นทองยกเป็นลายห่างๆ เป็นช่วงๆไปตลอดผืน มักทำเป็นลายพฤกษา หรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งชาวอินเดียถือเป็นต้นไม้แห่งความอุดมสมบูรณ์ ไทยนิยมใช้ทำเสื้อ ตัวอย่าง โคลงบรรยาย การแต่งกายของ คนภาษาไทย ในสมัยอยุธยา
รูปสยามงามนุ่งแม้น แมนมา ผจงฤา
นัคเรศสฤษดิรักษ์เรือง ฤทธิ์ตั้ง
มาตยาอโยทธยา ยลขนาด นี้พ่อ
รบือเดชทั่วทั้งหล้า แหล่งแสยงฯ
อัดตลัตพิลาศเสื้อ สวมตน
ปูมนุ่งพุงพัตรถแมง โอบอ้อม
รังสรรค์สกัลสกนธ์ รจิตร โอ่เอย
แสดงแห่งหอไท้พร้อม เพริศพอฯ
ผ้าต่วน ผ้าแพรจินเจา เป็นผ้าแพรเลี่ยนเลื่อมเป็นมัน "ต่วน" เป็นชื่อที่อินเดีย ใช้เรียกผ้าโบราณที่นำมาจากจีน ที่ทำจากเมือง "ชวนจิว" ไทยเรียก เมืองจินเจา และผ้าแพรที่ทำมาจากเมืองนี้เรียก แพรจินเจา เมืองจินเจานี้ ฝรั่งและอินเดีย เรียก เมือง "ไซตูน" หรือ "ไซตอน" หรือ "ไซตวน" แพรที่ทำจากเมืองนี้ ฝรั่งและอินเดีย เรียก "แพรไซตวน" เมื่ออินเดียนำแพรนี้มาขายไทย จึงเรียก ผ้าแพรต่วน นั่นเอง
ผ้าตาด เป็นผ้าทอด้วยไหมควบกับเงิน หรือทองแดง ที่ทำเป็นแถบบางๆเล็กๆ ถ้าควบกับเงินเรียก "ตาดเงิน" ควบกับทองแดง เรียก "ตาดทอง" ผ้าตาดนั้น ทอด้วยทองแล่งกับไหมสี ถ้าไม่มีลวดลายใดๆเรียก “ตาดทอง” ถ้ามีลายดอกสี่เหลี่ยม เรียกว่า “ตาดตาตั๊กแตน” ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีตาดเงิน ตาดระกำไหม ซึ่งมีเนื้อไหมมากกว่าดิ้น นิยมนำมาปักลาย แล้วใช้เป็นผ้าทรงสะพัก หรือฉลองพระองค์
ผ้าโหมด ผ้าที่ใช้กระดาษทอง ตัดเป็นเส้นเหมือนทองแล่ง แล้วทอกับไหมภายหลังใช้กระดาษพันเส้นไหม แล้วนำมาทอ มีหลายชนิดเช่น โหมดญี่ปุ่น และโหมดรัสเซีย เป็นต้น
ผ้าสุจหนี่ เป็นผ้าปูอาสนะพระหรือที่นอน ทอด้วยขนสัตว์หรือไหมปักลวดลายตามขอบด้วยดิ้นทอง หรือเงิน
ผ้าแพร ส่วนมากมาจากประเทศจีน มีหลายชนิดทั้งเรียบและมีดอก เดิมใช้เฉพาะขุนนางต่อมาใช้เป็น ผ้าพระราชทานบำเหน็จแก่ข้าราชบริพารทั่วไป
ผ้าม่วง เป็นผ้าแพรไหมเนื้อละเอียด จีนเรียกว่า “หม่วง” ใช้เป็นโจงกระเบน และในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงให้ยกเลิกการใช้ผ้าปูมสมปักจากเขมร มาใช้ผ้าม่วงเป็นชุดข้าราชการแทน
ผ้าหนามขนุน เป็นผ้ามัดย้อมจากอินเดีย มีลายปมเหมือนหนามขนุน ใช้เป็นผ้าคาดเอวขุนนาง
ผ้าลายอย่าง เป็นผ้าชั้นสูงของราชสำนักไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สำหรับพระมหากษัตริย์หรือราชวงศ์ชั้นสูง สมัยรัตนโกสินทร์ เรียกว่า “ผ้าเขียนลายทอง” เป็นผ้าที่ราชสำนักออกแบบลาย แล้วส่งไปเขียนหรือพิมพ์ ที่ประเทศอินเดีย โดยใช้ผ้าขาวพื้นทอมาจากเมืองแมนเชสเตอร์ ในประเทศอังกฤษ ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด คงใช้ในราชสำนักเท่านั้น
ผ้าสุหรัด เป็นผ้าที่ผลิตจากเมืองสุหรัด ประเทศอินเดีย เป็นผ้าพื้นบ้านพิมพ์ลายด้วยมือโดยแม่พิมพ์ไม้ แต้มสีและใช้หอยเบี้ยขัดให้เกิดเงา มีรูปแบบลวดลายอันหลากหลาย
( ในอินเดียมีแคว้นที่ทำผ้าที่ไทยใช้มากที่สุด อยู่สองแห่ง คือทางทิศตะวันตก มีแคว้น "คุรชะราษฎร์" ไทยเรียก "กุศหราด" ฝรั่งเรียก "Guzerat" เมืองต่างๆในแคว้นนี้ทำผ้าทั้งนั้น เช่น เมืองสุราษฎร์ หรือ "สุรัฐ" ซึ่งไทยเราเรียก "สุหรัด" ฝรั่งเรียก Surat อยู่เหนือเมืองบอมเบย์ ที่ไทยเรียก "บุ่มไบ" นี้เป็นแหล่งใหญ่แห่งหนึ่ง กับทางตะวันออกมีแคว้น "มัดราส" เมืองที่ทำผ้ามากที่สุด ก็มีเมือง "มาสุลิปะตัม" กับเมือง "บาบุดบัมดัด" นี้เป็นแหล่งใหญ่อีกแห่งหนึ่ง )
ผ้าขนสัตว์ ผ้าสักหลาด เป็นผ้าขนสัตว์ เปอร์เซียทำผ้าชนิดนี้ เรียกชื่อว่า "สะกัลล้าต" อังกฤษเรียกว่า สการ์เลต ( Scarlet ) ซึ่งหมายถึงผ้าชนิดหนึ่งซึ่งโดยมากเป็นสีแดง แต่จะเป็นสีอื่นก็ได้ ไทยคงจะได้ชื่อ ผ้าสักหลาด มาทางเปอร์เซีย สักหลาดที่ไทยใช้แต่โบราณมาโดยมาเป็นสีแดง ผ้าขนสัตว์ ผ้าสักหลาด นั้น ส่วนใหญ่สั่งมาจากอินเดีย เป็นผ้าที่ทอ ที่มีส่วนผสมของขนสัตว์ ที่นิยมใช้แพร่หลาย ได้แก่ผ้ากำมะหยี่ และผ้าสักหลาด เป็นต้นใช้สำหรับทำฉลองพระองค์สำหรับออกงานหรือใช้ในช่วงฤดูหนาว
ผ้ามัศหรู่ เป็นผ้าสองหน้า หน้าในเป็นด้าย หน้านอกเป็นไหม เป็นพวกผ้าริ้วรายเป็นทางๆ ชื่อมัศหรู่ เป็นภาษาเปอร์เซีย เรียก "มัชรู" ในอินเดียทำที่เมืองพาราณสี มาก
ผ้าปัศตู เป็นผ้าริ้วลายเป็นทางๆ ในอินเดียมีผ้าลักษณะกันนี้เรียก "ปูตีส์"
ผ้าย่ำมะหวาด เป็นคำมาจากภาษาฮินดู "ยามะวาร์" หรือ "ยามะหะวาร์" ใช้เรียกผ้าจำพวกผ้าห่มที่ทอเป็นลายริ้วสลับสี ทำที่แคว้นแคชเมียร์ "กัษมิร" และปัญจาป กับเรียกผ้าทอมีลายเป็นเส้นทองทำที่เมืองกุศหราด
ผ้าย่ำตะหนี่ เป็นคำมาจากภาษาเปอร์เซีย กับภาษาฮินดู "ยามดานี" หรือ "ยามะหะดานี" ใช้เรียกผ้าจำพวกเนื้อบางละเอียด ทอเป็นดอกดวงต่างๆ ทำที่เมืองดักกะใน แคว้นบังกล่า ผ้าบางพวก มัสลิน และที่ทำเป็นดอกของเมืองนี้ นับถือกันว่าเป็นของดีที่สุดและมีราคาแพงที่สุด
ผ้ามัสลิน เป็นคำมาจากภาษาเปอร์เซีย ใช้เรียกผ้าจำพวกเนื้อบางละเอียดที่สุด ชื่อ มัสลิน ออกจากเมือง "โมชุล" ในเปอร์เซีย ซึ่งเป็นเมืองที่ทำผ้าที่มีชื่อเสียงที่สุดมาแต่โบราณ ในอินเดียใช้เรียกผ้ามัสลินหลายอย่าง เมืองปัตนะ (ปาฏลีบุตร) มีชื่อในการทำผ้าชนิดนี้ ชนิดบางที่สุดเนื้อใสเหมือนแก้ว
ผ้ากุศหราด เป็นผ้าชนิดหนึ่งที่ทำที่เมืองกุศหราด ในเรื่องสังข์ทองกล่าว "เจ้าเงาะคลี่ผ้ากุศหราดออกคาดพุง" ก็คือผ้าชนิดนี้
ผ้าสลัปตุ่น หรือสละปะตุ่น หรือ มะชลิปต่ำ เป็นผ้าชนิดหนึ่งที่ทำที่เมืองมาสุลิปะตัน ซึ่งมาจากคำเดิม "มัจฉลีปตาน" "มัจฉลี" แปลว่าปลา "ปตาน" แปลว่าเมือง แต่เรียกเพี้ยนมาเป็น "มาสุลิปะตัน" หนังสือฝรั่งที่มาเมืองไทยครั้งโบราณโน้นเขียน "เมชลิปะตัม" ( Mechlipatam) ซึ่งใกล้กับ มะชลิปต่ำ ของเรา คำว่า ผ้าสลัปตุ่น หรือสละปะตุ่น นั้นเพี้ยนมามาก เราคงจะฟังมาหลายทาง เมืองนี้ทำผ้าริ้วงามๆ อย่างที่สมัยโบราณเราเอามาทำม่านกั้นห้อง
ผ้ากำมะหยี่ เป็นผ้าชนิดหนึ่งที่ทำที่เมืองคัมเบย์ ในแคว้น กุศหราด ชื่อ "คัมเบย์" มาจากคำเดิม "ขัมภวดี" ( หรือ สตัมภติรถะ) แล้วเรียกเพี้ยนเป็น "คัมบายา" ก็มี "คัมเบีย" ก็มี คำ กำมะหยี่ คงเพี้ยนต่อมาอีกต่อหนึ่ง
ผ้าฉีก เป็นผ้าชนิดหนึ่งที่อินเดียเรียก "ชิต" หรือ "ชินต์" ( ที่ฝรั่งเขียน Chintz) ของแขกนั้นเพี้ยนมาจากคำว่า "จิตร" ในภาษาสันสกฤต เดิมของเขาเอง ที่แปลว่า "ลวดลาย" ต่างๆ วิธีทำผ้าลายนี้ ว่าเอาสีมาเขียนแต้มให้เป็นลายต่างๆ ทำนองกับผ้าบาติกของชวา ผ้าลายชนิดนี้ทำในอินเดียทางตะวันออกอย่างเดียว เมืองที่ทำมากที่สุดคือเมือง มาสุลิปะตัม และเมืองอื่นๆแถวมัดราส บางเมือง ส่วนอินเดียตะวันตก นั้นคือเมือง กุศหวาด และ เมืองสุหรัดนั้นไม่ทำผ้าฉีก ผ้าฉีก ที่ทำแถวเมือง "บาบุดบัมดัด" นั้น ไทยเรียก ผ้าลายฉีกบ้าดัด โดยคำว่า บ้าดัด เป็นคำเพี้ยนชื่อเมือง บัมดัด หรือ บาบุดบัมดัด นั่นเอง ดังในหนังสือราชนิพนธ์ อิเหนา ที่ว่า
นักเลงเหล้าเจ้าชู้ฉุยฉาย
นุ่งลายฉีกบ้าดัดตัดผมใหม่
ดัดจริตปิดขมับทาไพล
ห่มแพรหนังไก่สองเพลาะ
ผ้าปัตหล่า เป็นผ้าโปร่ง ผ้าลูกไม้ที่มีลวดลายดอกดวงต่างๆ ปักทองตามลวดลายกิ่งก้านดอกดวง ให้เห็นเป็นทองอร่าม เอามาทำเสื้อครุย ในอินเดียมีผ้า "เบตตีลา" คำนี้มาจากคำสเปนหรือโปตุเกส ว่า "ปิติลล่า" หรือ "ปิติลฮา" แปลว่าผ้าคลุมหน้า ทางอินเดียใช้เรียกผ้าขาวบางที่มีดอกดวงลวดลาย ทำที่เมือง มาสุลิปะตัม ในสมัยอยุธยา ฝรั่งเอาผ้าอินเดียมาขายมาก เรียกผ้า "เบตติลล์" ซึ่งทางอินเดียเรียก "เบตตีล" ทำที่เมือง มัดราส และมาสุลิปะตัม
ผ้าอัศวรี หรือ หัศวรี เป็นผ้าแพรเนื้อนุ่มอย่างดีมีราคาแพง ใช้ทำเสื้อก็มี ผ้านุ่งก็มี ใช้ทำฉลองพระองค์
ผ้า วรวะยี หรือ วรวะหยี่ เป็นผ้าทำจากเมืองวรวารี (ไทรบุรี โบราณ) เช่น ภูษาริ้ววรวะยี จีบโจงโยคี (ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงเก่า)
เสื้อเสมียนละว้า ทอเป็นลายต่างๆ ของพวกละว้าบ้านสะเมิง, คำว่า เสมียน เพี้ยนจากคำ สะเมิง เป็นกิ่งอำเภออยู่ทางอำเภอฮอด ในเรื่องละเด่นลันได กล่าว " เจียรบาทคาดเสมียนละว้ามาแต่ลาว "